น้องหมา
พัฒนาการลูกสุนัขแต่ละช่วงวัย
เพราะลูกสุนัขแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการที่แตกต่าง
121,346
สำหรับลูกสุนัขพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของพวกเขาล้วนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะในแต่ละช่วงวัยลูกสุนัขก็จะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน และมีความต้องการทางโภชนาการที่แตกต่างจากสุนัขที่โตเต็มวัยแล้ว และเพื่อให้การเจริญเติบโตของลูกสุนัขเป็นไปอย่างสมบูรณ์และมีอายุยืนยาว เจ้าของจึงควรให้ความสำคัญกับช่วงเวลาที่ลูกสุนัขเติบโต โดยการเติบโตนั้นก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของลูกสุนัขด้วย สุนัขพันธุ์เล็กจะโตเร็วกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ ประสบการณ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นในการฝึกให้ทำตามคำสั่ง และเรียนรู้กฎของฝูง ทำให้ลูกสุนัขมีประสบการณ์ที่ดีซึ่งในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อพฤติกรรมของพวกเขา ทำให้ลูกสุนัขเติบโตเป็นสุนัขนิสัยดี ... และถ้าอยากให้สุนัขของคุณเติบโตอย่างสมบูรณ์ครบทุกด้วย เจ้าของจำเป็นต้องรู้จักและเรียนรู้พัฒนาการของลูกสุนัขในแต่ละช่วงดังนี้
1. ช่วงแรกเกิด (Neonatal Period)
ช่วงนี้คือช่วงสุนัขตั้งแรกเกิดจนถึง 2 สัปดาห์
• ลูกสุนัขในช่วงนี้ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแม่สุนัขอย่างใกล้ชิด ถ้าถูกแยกจากแม่สุนัขไปลูกสุนัขจะส่งเสียงร้องและคลานหา ประกอบกับลูกสุนัขยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ดีนักจึงจำ เป็นต้องได้รับความอบอุ่นจากแม่สุนัข หรือการนอนสุมรวมกันของพี่น้องในครอก
• ลูกสุนัขจะยังไม่ลืมตาจนกว่าจะอายุ 10 วัน ซึ่งการมองเห็นจะค่อยๆ พัฒนาดีขึ้นจนสมบูรณ์ที่อายุ 2 ถึง 3 สัปดาห์ และลูกสุนัขแรกเกิดนั้นจะยังไม่ได้ยินเสียงแต่สามารถรับรู้จากการสัมผัสและดมกลิ่น
• ลูกสุนัขแรกเกิดยังมีข้อจำกัดในการเคลื่อนที่ สามารถทำได้เพียงการคลานไปข้างหน้า เนื่องจากขายังไม่สามารถรับน้ำ หนักของร่างกายได้
• เวลาส่วนใหญ่ของลูกสุนัขใช้ไปกับการนอนและการกิน
• ลูกสุนัขในช่วงวัยนี้จะได้รับสารอาหารจากน้ำนมของแม่สุนัขเท่านั้นและลูกสุนัขควรได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่สุนัข ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก
หลังคลอด เพราะเป็นน้ำนมที่ประกอบด้วยสารภูมิคุ้มกันที่มีผลกับสุขภาพของลูกสุนัข
• การขับถ่ายของลูกสุนัขทั้งอึและฉี่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นจากแม่สุนัขให้โดยการเลียบริเวณอวัยวะขับถ่าย
2. ช่วงการเปลี่ยนผ่าน (Transitional period)
ช่วงอายุสุนัขประมาณ 2-3 สัปดาห์
• แม้ช่วงนี้เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 สัปดาห์ แต่ลูกสุนัขมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยลูกสุนัขมีการมองเห็นที่พัฒนาขึ้นสามารถตอบสนองต่อแสงและการเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ดี นอกจากนี้จะเริ่มได้ยินเสียงต่างๆเมื่ออายุได้ 18 ถึง 20 วันส่วนการเคลื่อนที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ลูกสุนัขสามารถยืนและเดินได้
• ลูกสุนัขมีการใช้เสียงสื่อสารมากขึ้น จากแต่เดิมจะร้องเมื่อรู้สึกหนาวหรือหิว กลายมาส่งเสียงร้องเมื่อไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย เป็นต้น นอกจากนั้นลูกสุนัขยังเริ่มมีพฤติกรรมตอบสนองทางสังคม เช่น การส่งเสียงขู่คำราม กระดิกหาง และเล่นต่อสู้กัน และเริ่มพัฒนาความสนใจต่อสิ่งรอบตัว เช่น มนุษย์ สัตว์อื่นๆ ในช่วงท้ายของช่วงเปลี่ยนผ่านนี้
• พฤติกรรมการขบเคี้ยวเริ่มพัฒนาขึ้น โดยลูกสุนัขแสดงความสนใจ และทดลองชิมอาหารของแม่สุนัข อย่างไรก็ตามสารอาหารหลักของลูกสุนัขในระยะนี้ยังคงมาจากน้ำนมแม่เป็นสำคัญ
• ในช่วงท้ายของระยะนี้ลูกสุนัขสามารถควบคุมการขับถ่ายด้วยตัวเองได้ทั้งฉี่และอึ และมีเรียนรู้การออกไปขับถ่ายนอกที่นอน
• การสัมผัสกับลูกสุนัขเป็นเวลาสั้นๆเพียงไม่กี่นาทีต่อวันไม่ทำให้เกิดโทษกับลูกสุนัขแต่เป็นการเริ่มสร้างความผูกพันกับมนุษย์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมของสุนัขเมื่อโตขึ้น
3. ช่วงเข้าสู่สังคม (socialization period)
ช่วงอายุสุนัขประมาณ 3-12 สัปดาห์
• ฟันน้ำนมของลูกสุนัขเริ่มงอกขึ้นมาเมื่ออายุได้ 3 ถึง 4 สัปดาห์ ซึ่งลูกสุนัขจะเริ่มสนใจอาหารอื่นๆ นอกไปจากน้ำ นมมากขึ้น และควรจัดหาน้ำ สะอาดไว้ให้ลูกสุนัขด้วยและแม่สุนัขจะเริ่มมีการปฏิเสธไม่ให้ลูกสุนัขดูดนม โดยที่ลูกสุนัขทุกตัวในครอกจะหย่านมอย่างสมบูรณ์ที่อายุ 6 ถึง 8 สัปดาห์
• ช่วงวัยนี้ลูกสุนัขเริ่มนอนน้อยลงและใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นพฤติกรรมหลายๆ อย่างของลูกสุนัขจึงเกิดพัฒนาขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะพฤติกรรมการเล่น ในระยะนี้ลูกสุนัขเริ่มเรียนรู้ที่จะควบคุมแรงกัด โดยเรียนรู้จากเสียงครางหงิงๆของเพื่อนเล่นที่ถูกกัด เมื่อการกัดนั้นแรงไป
• ลูกสุนัขมีการใช้เสียงต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกับการเล่น ไม่ว่าจะเป็นการเห่า การขู่คำราม เมื่อถูกทำให้รู้สึกตื่นเต้น หรือไม่พอใจ การส่งเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากแม่สุนัขยังมีอยู่ แต่ลดน้อยไปจากช่วงแรกเกิด และช่วงเปลี่ยนผ่าน
• ประสบการณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบที่ลูกสุนัขได้รับในช่วงนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการแสดงพฤติกรรมของลูกสุนัขเมื่อโตขึ้นและลูกสุนัขมีพัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพฤติกรรมทางสังคม จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะส่งเสริมการเรียนรู้การเข้าสังคมของลูกสุนัข เพื่อให้เขาโตขึ้นมาเป็นสุนัขที่มีความมั่นใจเข้ากับคนอื่นหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้ง่าย ไม่ก้าวร้าวหรือขี้กลัว
• สำหรับอายุที่ดีที่สุดที่จะแยกลูกสุนัขจากแม่สุนัขและพี่น้องตัวอื่นๆ ในครอกเพื่อไปยังบ้านหลังใหม่นั้นลูกสุนัขควรมีอายุได้ 8 สัปดาห์ ซึ่งหากแยกลูกสุนัขที่อายุน้อยกว่านี้อาจจะส่งผลในทางไม่ดีนัก เนื่องจากลูกสุนัขอาจจะยังไม่หย่านม และขาดการพัฒนาทางสังคมกับแม่และพี่น้องในครอกไป นอกจากนี้หากแยกลูกสุนัขช้าเกินไป นั่นหมายความว่าเจ้าของจะพลาดช่วงเวลาที่สำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่สังคมของลูกสุนัข
4. ช่วงวัยเด็กย่างโตเต็มวัย (The Juvenile period)
เป็นช่วงอายุสุนัขประมาณ 12 สัปดาห์จนถึงโตเต็มวัย
• หลังจากอายุ 12 สัปดาห์ พัฒนาการหลายๆ ด้านของลูกสุนัข เริ่มใกล้เคียงกับสุนัขโตเต็มวัยแล้ว อย่างไรก็ตามลูกสุนัขจะยังมีการเจริญเติบโตอยู่แต่เป็นไปอย่างช้าๆ ทำ ให้เจ้าของอาจจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดเหมือนก่อน 12 สัปดาห์
• อวัยวะต่างๆ ในระบบรับความรู้สึก อย่างประสาทสัมผัส หู ตา ของลูกสุนัขจะพัฒนาโดยสมบูรณ์ และฟันน้ำนมของลูกสุนัขจะถูกแทนที่ด้วยฟันแท้จนครบทุกซี่ที่อายุ 7 เดือน
• เมื่ออายุ 6 เดือน ลูกสุนัขจะมีทักษะหลายๆ ด้านใกล้เคียงกับสุนัขที่โตเต็มวัย อย่างไรก็ตามทักษะของสุนัขแต่ละตัวอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตัวสุนัขเองและสิ่งแวดล้อม
• การเป็นสัดครั้งแรกของสุนัขเพศเมียนั้นพบได้เมื่อลูกสุนัขอายุ 6 ถึง 7 เดือน ซึ่งหากได้รับการผสมก็สามารถตั้งท้องได้ ในช่วงวัยนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหากเจ้าของต้องการจะทำหมันให้สุนัข โดยควรปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้าน
• สำหรับการโตเต็มวัยของสุนัขนั้นจะต่างกันไปตามสายพันธุ์ โดยสุนัขพันธุ์เล็กนั้นจะโตเต็มวัยเมื่ออายุประมาณ 9 เดือน ส่วนสุนัขพันธุ์กลางจะโตเต็มวัยเมื่ออายุ 1 ปี ส่วนสุนัขพันธุ์ใหญ่ และพันธุ์ใหญ่มากจะเจริญเติบโตช้ากว่า ซึ่งมักจะโตเต็มวัยที่อายุ 18 ถึง 24 เดือน
• ในช่วงวัยนี้การส่งเสริมกระบวนการพัฒนาทางสังคมของลูกสุนัขยังคงเป็นสิ่งจำเป็น และควรมีการสอนคำสั่งต่างๆ ให้กับลูกสุนัขด้วยโดยควรใช้เวลาสั้นๆในแต่ละครั้งแต่สม่ำเสมอและแฝงด้วยความสนุกสนานเพราะสุนัขมักจะเบื่อง่าย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น